วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

นวัตกรรมทางการศึกษา

บทคัดย่อ

หัวข้อวิจัย การพัฒนาจริยธรรมและศีลธรรมทางพระพุทธศาสนาของนักศึกษาสาขาวิชาการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตด้วยการฝึกปฏิบัติวิปัสสนาตาม
หลักสติปัฏฐาน 4

ผู้วิจัย ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุวิมล ห้องเสงี่ยม
รองศาสตราจารย์ ดร. นงนุช กุลบุญ


สถาบัน มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

ปีการศึกษา 2547


การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประโยชน์ของการปฏิบัติวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน 4 ที่มีต่อการพัฒนาจริยธรรมและศีลธรรมทางพระพุทธศาสนา ของนักศึกษาสาขาวิชาการศึกษา คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต โดยเปรียบเทียบคุณลักษณะทางจริยธรรมและศีลธรรมในพระพุทธศาสนาของนักศึกษากลุ่มเดียวกัน ก่อน และ หลัง การฝึกปฏิบัติวิปัสสนาตามหลักสติปฏิฐาน 4 ที่กำหนดให้กลุ่มตัวอย่างเข้าฝึกปฏิบัติเป็นเวลา 7 วัน

กลุ่มตัวอย่าง คือ นักศึกษาสาขาวิชาการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ที่เข้าใหม่ในต้นปีการศึกษา 2545 ทุกคน (ยกเว้นผู้ที่นับถือศาสนามุสลิม) จำนวน 120 คน จาก 4 โปรแกรมการศึกษา คือ ธุรกิจศึกษา เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา การประถมศึกษา การศึกษาปฐมวัย

เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสำรวจคุณลักษณะทางจริยธรรมและศีลธรรมทางพระพุทธศาสนาที่คณะผู้วิจัยสร้างขึ้นโดยขอคำปรึกษาจากพระวิปัสสนาจารย์ และวิทยากรผู้สอนการปฏิบัติวิปัสสนามานาน แบบสำรวจนี้ใช้สำรวจคุณลักษณะทางจริยธรรมและศีลธรรมฯ 6 ประการ ได้แก่ ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนาตามหลักสติปฏิฐาน 4 ความตั้งใจมั่นละเว้นการกระทำในทางชั่ว ความตั้งใจมั่นในการทำความดี การพัฒนาลักษณะนิสัยประจำตัว ความเชื่อมั่นในหลักธรรมสำคัญ และประสบการณ์เกี่ยวกับสภาวะธรรม รวม 57 ข้อ
ข้อมูลที่ได้จากทั้งก่อนและหลังการฝึกปฏิบัตินำมาวิเคราะห์ โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ โปรแกรมเอสพีเอสเอส ใช้สถิติพื้นฐาน หาค่าเฉลี่ย หาค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน แล้วนำค่าเฉลี่ยของแต่ละคุณลักษณะทางจริยธรรมและศีลธรรมฯ ของกลุ่มตัวอย่างก่อนเข้าฝึกปฏิบัติฯ กับ หลังจากฝึกปฏิบัติแล้ว มาเปรียบเทียบความแตกต่าง
การศึกษาวิจัยพบว่า หลังจากฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามหลักสติปัฏฐาน 4 คุณลักษณะทางจริยธรรมและศีลธรรมทางพระพุทธศาสนาของนักศึกษาสาขาวิชาการศึกษา ซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่าง พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นทั้ง 6 ประการ ดังนี้
1. ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนาตามหลักสติปฏิฐาน 4 พัฒนาจากระดับปานกลาง 2.74 ก่อนเข้าฝึกปฏิบัติ ขึ้นเป็นระดับมาก 4.17 หลังจากการฝึกปฏิบัติ
2. ความตั้งใจมั่นละเว้นการกระทำในทางชั่ว พัฒนาจากระดับมาก 4.30 ก่อนเข้าฝึกปฏิบัติ ขึ้นเป็นระดับมากที่สุด 4.72 หลังจากการฝึกปฏิบัติ
3. ความตั้งใจมั่นในการทำความดี พัฒนาจากระดับมาก 3.73 ก่อนเข้าฝึกปฏิบัติ ขึ้นเป็นระดับมากที่สุด 4.53 หลังจากการฝึกปฏิบัติ
4. การพัฒนาลักษณะนิสัยประจำตัว พัฒนาจากระดับปานกลาง 2.99 ก่อนเข้าฝึกปฏิบัติ ขึ้นเป็นระดับมาก 4.22 หลังจากการฝึกปฏิบัติ
5. ความเชื่อมั่นในหลักธรรมสำคัญ พัฒนาจากระดับมาก 4.12 ก่อนเข้าฝึกปฏิบัติ ขึ้นเป็นระดับมากที่สุด 4.68 หลังจากการฝึกปฏิบัติ
6. ประสบการณ์เกี่ยวกับสภาวะธรรม พัฒนาจากระดับน้อย 1.86 ก่อนเข้าฝึกปฏิบัติ ขึ้นเป็นระดับมาก 3.54 หลังจากการฝึกปฏิบัติ

ภาพรวมของคุณลักษณะทางจริยธรรมและศีลธรรมทั้ง 6 ประการของนักศึกษาพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น โดยพัฒนาจากระดับปานกลาง 3.24 ก่อนเข้าฝึกปฏิบัติ ขึ้นเป็นระดับมาก 4.40 หลังจากการฝึกปฏิบัติ

นอกจากนี้ยังพบว่าความพอใจ และความสนใจที่จะสนับสนุนโครงการนี้ของกลุ่มตัวอย่างหลังจากที่ได้มีการฝึกปฏิบัติแล้ว อยู่ในระดับสูง 4.26
ผลของการศึกษาวิจัยบ่งชี้ว่า การปฏิบัติวิปัสสนาตามหลักสติปฏิฐาน 4 พัฒนาจริยธรรมและศีลธรรมฯ ของนักศึกษาไปในทางที่ดีขึ้นในทุก ๆ ประการ สมดังสมมติฐานของการวิจัยที่ว่าการปฏิบัติวิปัสสนาตามหลักสติปฏิฐาน 4 ที่มีผลต่อการพัฒนาคุณลักษณะทางจริยธรรมและศีลธรรมทางพระพุทธศาสนาของนักศึกษาสาขาวิชาการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

มีข้อเสนอแนะ ดังนี้
1. การฝึกปฏิบัติวิปัสสนาของกลุ่มตัวอย่างจะมีคุณภาพจนเกิดผลดีในทางการปฏิบัติส่งผลให้พัฒนาจริยธรรมและศีลธรรมไปในทางที่ดีได้มากเพียงไร ขึ้นอยู่กับพระวิปัสสนาจารย์และวิทยากรที่มีความสามารถสูง ดังนั้นการเลือกพระวิปัสสนาจารย์ และ วิทยากร เป็นสิ่งสำคัญ
2. ความรับผิดชอบ ความมีวินัยของผู้ปฏิบัติ มีผลต่อการปฏิบัติให้มีคุณภาพ อันจะส่งผลในการพัฒนาจริยธรรมและศีลธรรมฯ ควรมีการปฐมนิเทศทำความเข้าก่อนการฝึกปฏิบัติ
3. ธรรมบรรยาย กิจกรรมที่ใช้ในการฝึกปฏิบัติต้องเกี่ยวเนื่องด้วยวิปัสสนาตามหลักสติปฏิฐาน 4 เพื่อให้ผู้ฝึกปฏิบัติได้รับความรู้ที่ถูกต้อง ไม่สับสน
4. สถานที่ต้องกว้างขวางพอที่จะทำให้ผู้ฝึกปฏิบัติ ปฏิบัติได้สะดวกไม่แออัด จนรบกวนซึ่งกันและกัน ไม่มีเสียงรบกวนทั้งในห้องปฏิบัติ ห้องนอน ห้องอาหาร จำนวนผู้ปฏิบัติที่มากเกินไปทำให้ผู้ปฏิบัติเก็บอารมณ์วิปัสสนาฯ ได้ยาก ทั้งพระวิปัสสนาจารย์ก็อำนวยการฝึกยากยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง
สุวิมล ห้องเสงี่ยม และนงนุช กุลบุญ.(2547).การพัฒนาจริยธรรมและศีลธรรมทางพระพุทธศาสนาของนักศึกษาสาขาวิชาการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตด้วยการฝึกปฏิบัติวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน 4.มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต.

สิ่งที่ได้เรียนรู้/ประโยชน์ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า

1. ใด้ทราบถึงวิธีการค้นหา/สืบค้นข้อมูลงานวิจัยผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ได้ข้อมูลตามที่เราต้องการ

2. ได้ทราบถึงวิธีการ/รูปแบบและเค้าโครงในการเขียนงานวิจัยที่ถูกต้องว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางในการทำวิจัยต่อไปได้

3. ได้รู้และเข้าใจวิธีการเขียนแหล่งอ้างอิงของงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และเป็นแนวทางในการพัฒนางานวิจัยในอนาคต

4. สามารถนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าไปใช้ในการทำงานวิจัยและไปพัฒนาการศึกษาในอนาคตได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น